ในเอ็นทรี่นั้น กล่าวถึงดาราพิธีกรชื่อดังคนหนึ่ง ผู้มีชีวิตค่อนข้างเพอร์เฟ็ค จบปริญญาเอก มีแฟนเป็นดาวมหาลัย ประสบความสำเร็จในอาชีพการงาน แต่สุดท้ายต้องมาตายด้วยโรคมะเร็ง ก่อนวัยอันควร (คิดกันไปเอง ครับว่า วัยไหนถึงควรตาย คนเราตายได้ทุกวัยนั่นแล) เพราะความเครียดจากการทำงานทุ่มเทมากไป
ในบทสัมภาษณ์ก่อนเขาจักลาจากโลกนี้ไป เขากล่าวถึง คำสอนของพ่อเขาว่า มีปริญญาอีกใบที่ต้องทำให้สำเร็จ คือ ปริญญาวิชาชีวิต เขาให้ความเห็นว่า เขาไม่ประสบความสำเร็จในการคว้าปริญญาใบที่สอง เขาต้องมานอนให้พ่อแม่เช็ดตัว ดูแลรักษา แทนที่เขาจักเป็นคนดูแลพ่อแม่ แสดงให้เห็นว่า เขาเกลียดตัวเอง ที่ต้องมานอนรอรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อย่างนี้
สำเร็จปริญญาวิชาชีวิตของเขา อาจหมายถึงการที่เขาได้มีชีวิตยืนยาว สุขภาพแข็งแรง ได้ดูแลแทนคุณพ่อแม่ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน ร่ำรวยมหาศาล มีลูกหลานมากมาย แล้วสุดท้ายนอนรอความตายโดยมีญาติพี่น้องลูกหลานคอยประคบประหงม ในเวลาที่ทุกคนลงความเห็นว่า เขาสมควรตายได้แล้ว
นั่นอาจจักเป็นปริญญาวิชาชีวิตทางโลกแต่ถ่ายเดียว ครับ ข้าพเจ้าขออนุญาตเสริมเนื้อหาของปริญญาวิชาชีวิตทางธรรมเพื่อความสมบูรณ์ของเนื้อหา
สำหรับข้าพเจ้าแล้ว วันที่สำเร็จปริญญาวิชาชีวิต คือวันที่เข้าใจอย่างถ่องแท้ถูกต้องชัดเจนว่า ชีวิตเราิเกิดมาเพื่ออะไร ครับ ไม่ใช่เกิดมาก็ไม่รู้ว่า เกิดมาทำไม จนตายแล้ว ก็ยังไม่รู้อยู่ดีว่า เกิดมาทำไม อย่างนี้เขาเรียก มืดมา แล้วก็มืดไป
เข้าใจชีวิตแล้ว มันมีความสุขจริง ๆ ครับ มีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน
เข้าใจชีวิตว่ากระไร? เข้าใจว่า ทั้งความสำเร็จ และความล้มเหลวของชีวิต มันเป็นแค่ของเล่น ครับ สุข ทุกข์ มันก็แค่ของหลอกเด็ก มาแล้วก็ไป มาแล้วก็ไป เหมือนกันหมด ไม่มีแก่นสารสาระกระไรเลย ไม่มีกระไรน่ายึด น่าถือ สักอย่าง
คนเราไม่ได้เกิดมาเพื่อยึด ครับ
กิเลสมันสั่งให้ยึด ไม่ต้องทำกระไร ปล่อยตัวปล่อยใจ คนเราก็มีธรรมชาติยึดโน่นยึดนี่อยู่แล้ว ครับ เช่น พอรู้ความ ก็ยึดว่า เราต้องมีของเล่น ต้องได้กินขนมอร่อย โตมาหน่อย ก็ยึดว่า ต้องเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง โรงเรียนอินเตอร์ ต้องมีแฟนสวยหล่อ โตอีกนิด ก็ต้องเรียนมหาลัยชื่อดัง ใหญ่ขึ้นมาอีกหน่อย ก็ต้องทำงานในบริษัทซึ่งเป็นที่รู้จัก เงินเดือนดี สวัสดิการเยี่ยม ต้องแต่งงานกับคนที่ใช่ ต้องมีลูก ต้องมีรถ ต้องมีบ้านหลังใหญ่ ต้องไม่แก่ ต้องไม่ป่วยไข้ และต้องไม่ตาย เป็นต้น
ความจริงแล้ว คนเราเกิดมาเพื่อ "วาง" ครับ
เพราะการวางจักพาให้เราเข้าถึง ความสุขแท้ ความสุขแท้เป็นยอดปรารถนาของสัตว์โลกทุกหมู่เหล่า
ยึดหน่ะมันง่าย แต่วางหน่ะมันยาก เราจึงต้องมาเกิดซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพื่อหาทาง "วาง" เมื่อไหร่วางได้หมด เมื่อนั้นก็ไม่ต้องมาเกิดอีก และนั่นละ คือ ดุษฎีบัณฑิตของชีวิต
ไม่ได้ห้ามไม่ให้ยึด ครับ คนเราหากไม่รู้จักการยึด จักรู้จักการวางได้อย่างไร มันก็ต้องยึดกันไปก่อน ยึดไป ก็ทุกข์ไป ทุกข์มาก ๆ เข้าก็วาง พอคลายทุกข์หน่อย ก็กลับมายึดใหม่ ยึด ๆ วาง ๆ เรียนรู้เพิ่มเติมไปทุกวินาทีในวัฏสงสาร จนสุดท้ายซาบซึ้งถึงอกถึงใจว่า เมื่อไหร่ยึด เมื่อนั้นทุกข์
แต่กว่าเราจักเข้าใจว่า เราเกิดมาเพื่อ "วาง" บางทีก็สายเสียแล้ว ครับ ยึดโลกมาแบกไว้ทั้งใบ
ทำไมภูมิมนุษย์ถึงประเสริฐที่สุดในสังสารวัฏ?
ทำไมภูมิมนุษย์ สัตว์ในสามโลกจึงอยากมาเกิดกันนัก?
และทำไมภูมิมนุษย์ถึงมาเกิดได้ยากเย็นนัก?
เพราะมีขุมทรัพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในสังสารวัฏฝังอยู่ในภูมิของมนุษย์หน่ะซี ขุมทรัพย์ทางปัญญาที่จักทำให้เรารู้จัก "การวาง"
ขุมทรัพย์นั้น องค์สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงเป็นคนขุดเจอ ครับ และทรงเอามาประกาศบอกพวกเรา
ขุมทรัพย์นั้น ชื่อ "ไตรลักษณ์" ครับ
ไตรลักษณ์ นั้น มีอีกชื่อหนึ่งว่า "สามัญญลักษณะ" ชาวพุทธคงไม่มีใครไม่เคยได้ยิน ไตรลักษณ์ หรือ ลักษณะสามัญสามอย่าง ก็คือ ทุกขัง อนิจจัง อนัตตา ฟังกันจนคุ้นหู คุ้นตา เป็นขุมทรัพย์อย่างไรหนอ?
ไตรลักษณ์สำคัญอย่างไร? ไตรลักษณ์คือที่สุดของปัญญา ครับ การวางนั้น พูดง่าย แต่ทำยาก หากยังไม่เห็นไตรลักษณ์ จิตเราจักไม่ยอมวางกระไรง่าย ๆ เด็ดขาด การจะเห็นไตรลักษณ์ได้ ต้องปฏิบัติตามมรรคมีองค์ ๘ เท่านั้น ครับ
เมื่อปฏิบัติตามมรรคแล้ว มันก็ไม่ยากที่จักเห็นไตรลักษณ์ ในภูมิของมนุษย์ มีไตรลักษณ์ให้เห็นแทบทุกที่ โดยเฉพาะร่างกายของเราเอง
ภูมิอื่น ไม่มีการเกิดมาเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ แล้วค่อย ๆ โตขึ้น จนโตเต็มที่ แล้วก็ค่อย ๆ แก่ลง ๆ เจ็บป่วย แล้วก็ตาย ภูมิมนุษย์นั้น มีครบทุกรสชาติของชีวิต ครับ สัตว์นรก หรือเปรตนั้น ทุกข์มากเกินไป ครับ ทุกข์ไม่เว้นวันหยุดราชการ เลยไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง ไม่เห็นอนิจจัง สัตว์เดรัจฉาน มีการเจริญเติบโต แก่ ป่วย ตาย ก็จริง แต่ก็หลงมากเกินไป ศักยภาพสมองน้อยเกินไป เทวดาก็สุขมากไป ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง พรหมก็ยิ่งนิ่งสนิทไปเลย
โลกมนุษย์ก็เหมือนโรงเรียนขนาดยักษ์ ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้เรียนรู้ชีวิต ทั้งการยึด และการวาง ตอนเด็ก ๆ เราก็เรียนรู้ที่จักยึด ต้องเรียนเก่ง ๆ นะ พ่อแม่จักได้พอใจ ต้องสอบเข้ามหาลัยให้ได้นะ จักได้มีหน้ามีตา ต้องรวยนะ ทุกคนจักได้นับถือ ยึดกันจนเต็มปรี่แล้ว ก็มาเรียนรู้ที่จักวาง ร่างกายเรา แก่ลงทุกวัน เสื่อมลงทุกวัน เราห้ามได้ไหม ถ้าห้ามไม่ได้ นั่นละ "อนัตตา" ร่างกายเรามันดีทุกวันหรือเปล่า ก็เปล่า เดี๋ยวมันก็ดี เดี๋ยวมันก็ร้าย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มันเที่ยงไหม เห็นความไม่เที่ยงไหมล่ะ นั่นละ "อนิจจัง" เวลาแก่แล้ว มันก็เจ็บป่วย ปวดเมื่อยไปทุกอิริยาบถ เห็นหรือยังเล่า นี่ละ "ทุกขัง"
วัยชราเป็นวัยที่ยอดเยี่ยมสำหรับการมองเห็น "ไตรลักษณ์" เลย ครับ แต่ขออำภัย หากเราไม่จบปริญญาวิชาชีวิตทางธรรมที่สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าวางหลักสูตรไว้ ให้ได้เสียก่อนแก่ ถึงเวลาแก่จริง มันมักจักสายไปแล้ว ครับ เพราะสิ่งที่มาพร้อมความแก่ คือ ความหลงลืม ความเสื่อมถอยของสังขาร ปัญญาก็อ่อนแอ สติสตังก็อ่อนแรง บางทีก็มีอาการเจ็บป่วยเพิ่มเติมขึ้นมาอีก ช่วงวัยชรา เหมือนช่วงสุดท้ายแห่งการเตรียมตัวสอบ ประมวลประสบการณ์ของทั้งชีวิต แล้วต้องเห็นไตรลักษณ์ให้ได้ เห็นไม่ได้ก็กลับมาเกิดใหม่ มาเกิดอีกเพื่อทำความเข้าใจใหม่ พยายามเห็นไตรลักษณ์อีกครั้ง สอบตกก็เวียนมาเกิดอีก เป็นอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
ผู้ที่เข้าใจชีวิต ยิ่งแก่ ก็ยิ่งมีความสุข ครับ แต่ผู้ที่สอบตกปริญญาวิชาชีวิต ยิ่งแก่ ก็ยิ่งเป็นทุกข์ ทุกข์กายยังไม่พอ เพิ่มทุกข์ใจเข้าไปอีก
วัยหนุ่มวัยสาว คือ วัยที่เราจักต้องทำความเข้าใจ กับความหมายที่แท้จริงของชีวิต ครับ แก่ ๆ ไป ไม่ค่อยเหลือปัญญามาศึกษาแล้ว เรียนให้รู้ ครับว่า แท้จริงคนเราเกิดมาเพื่ออะไร รู้ไว้ก่อน ครับ ทำไม่ได้ ทำไม่ถึง ไม่เป็นไร (นี่ละ ครับ สมัยก่อนเข้าถึงให้บวชเรียน ให้รู้อะไรเป็นอะไรก่อน แล้วจักอยากแสวงหาพระนิพพานในเพศสมณะ หรือจะกลับไปใช้ชีวิตฆราวาส ก็เลือกเอา น่าเสียดายที่ประเพณีดีงามเช่นนี้ นับวันก็เหลือน้อยลง ๆ)
การรู้ความหมายของชีวิต เป็นปริญญาวิชาชีวิต ครับ (เขาถึงเรียกคนที่บวชเรียนแล้วสึกว่า "ทิด" แปลว่า ผู้ศึกษาแล้ว) ส่วนถ้าทำได้ถึง เป็นปริญญาใบที่สาม ครับ เป็นปริญญาพิเศษ เรียกว่า ปริญญาทางธรรม ถ้าสอบเข้ามหาลัยทางธรรมได้นี่ เขาเรียกว่า พระเสขะ หมายถึง พระอริยบุคคลที่ยังต้องศึกษา เป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ก็คือ ได้โสดาบัน จบปริญญาตรีแล้ว ก็เรียกว่า สกทาคามี จบปริญญาโท ก็เรียกว่า อนาคามี
การเรียนทางโลกไม่มีวันจบ ครับ มีให้เรียนเรื่อย ๆ จนทำให้ข้าพเจ้าเป็นโรค classroomphobia แต่การเรียนทางธรรม มีวันจบ ครับ จบแล้วไม่ต้องเรียนอีก จบด็อกเตอร์ทางธรรม ก็เรียกว่า พระอรหันต์ หรือเรียกอีกอย่างว่า พระอเสขะ หมายถึง พระอริยบุคคลที่ไม่ต้องศึกษาแล้ว หมดกิจที่ต้องทำแล้ว
มหาลัยทางธรรมอยู่ที่ไหน? ก็อยู่ในกาย ในใจ เรานี้นั่นแล มหาลัยทางธรรม เรียนอะไร? ก็เรียนรู้ทุกข์ ทุกข์อยู่ที่ไหน? ก็อยู่ในกาย ในใจ เรานี้ กายใจ หรือขันธ์ห้าของเรานี่เอง คือ "มหาลัยทางธรรม"
อย่างดาราพิธีกรคนนั้น หากเขาทราบสักนิดว่า เป้าหมายแท้จริงของชีวิต คือ การเห็นไตรลักษณ์ แล้วจักได้วาง วางได้แล้วจึงจักมีความสุขไม่ว่าจักเกิดอะไรขึ้น จักหายหรือไม่หาย ก็มีความสุข ตระหนักได้ว่า การสำเร็จปริญญาวิชาชีวิต มิใช่การมีอายุยืนยาว ไม่ป่วยไม่ไข้ เขาก็คงเป็นนักศึกษาได้ไม่ยาก ครับ ร่างกายสมองยังดีอยู่ ศึกษาธรรมะได้ไม่ยาก แต่คนเราเวลาป่วยแล้ว ก็ไม่มีเวลามานั่งคิดถึงไตรลักษณ์หรอก เวลาทั้งหมดไปสนใจอยู่กับทุกขเวทนาจากการป่วย ทำอย่างไรให้พ้นจากทุกขเวทนา ฉะนั้น เราต้องไม่ประมาท ครับ หัดระลึกถึงไตรลักษณ์เสียตั้งแต่ยังไม่ป่วย ยังไม่แก่ ตุนเสบียงไว้ใช้ในเวลาสำคัญของชีวิต
นอกจากขุมทรัพย์ดังกล่าวแล้ว ภูมิมนุษย์ยังประเสริฐกว่าภูมิทั้งหลาย ตรงที่สามารถเลือกที่ไปได้โดยอิสระ ครับ อยากไปเป็นสัตว์นรก ก็โกรธเข้าไป ครับ ล่วงศีล ๕ เข้าไป เดี๋ยวก็ได้เป็น อยากเป็นเปรต ก็โลภเข้าไป อยากเป็นอสุรกาย ก็สะสมมิจฉาทิฏฐิไว้เยอะ ๆ อยากเป็นคนอีก ก็รักษาศีล ๕ เอาไว้ อยากเป็นเทวดา ก็รู้จักกลัวโทษของบาป รู้จักละอายบาปไว้เรื่อย ๆ อยากไปเป็นพรหม ก็ฝึกสมาธิไว้ หรืออยากไปนิพพาน ก็หัด "วาง" เข้า
และภูมิมนุษย์ก็มาเกิดได้ยากเย็นนักหนา เพราะมีโควต้าจำกัด ครับ มีจิตแค่ประมาณหกพันล้านดวงเท่านั้น จักมีสิทธิ์เกิดเป็นมนุษย์ แต่จิตในสกลจักรวาลนี้ มีมากมายจนนับไม่ได้ เราได้เกิดเป็นคนไทย ได้พบศาสนาพุทธ ได้เรียนธรรมะนี่ ก็โชคดีกว่า คนทั้งหลายอยู่อักโขทีเดียว เพราะเราจักมีโอกาสจบปริญญาวิชาชีวิตได้อย่างง่ายดาย เพียงแค่สนใจศึกษา คนที่มีโอกาสดีอย่างนี้มีเพียงหยิบมือเดียว ครับ ถึงสิบล้านคนหรือเปล่าก็ไม่ทราบ ส่วนคนอีกมากมายกว่าหกพันล้าน ไม่มีโอกาสดีอย่างเรา ครับ ฉะนั้น สมควรอย่างยิ่งทีเดียว ที่จักเร่งจบปริญญาวิชาชีวิตให้อุ่นใจไว้ก่อน และถ้าไม่ประมาท ก็เริ่มปฏิบัติธรรมตั้งแต่วันนี้ เอาปริญญาทางธรรมให้ได้แต่เนิ่น ๆ ถึงเวลา "สอบไล่" วิชาชีวิตแล้ว จักได้ช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่ต้องมาฝันร้ายหวาดกลัวการสอบไล่เพราะเตรียมตัวไม่ทันเช่นข้าพเจ้า และไม่ต้องมาโอดครวญว่า "ข้าพเจ้าสอบตกปริญญาวิชาชีวิต"
เพราะการเจ็บป่วย หรือตายก่อนวัยอันควร มิใช่การสอบตกปริญญาวิชาชีวิต ครับ แต่การตายไปโดยไม่รู้ว่า ชีวิตเกิดมาทำไมนั่นแล คือ การสอบตกปริญญาวิชาชีวิตที่แท้จริง!!!
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น